ประวัติวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ


วัดมังกรกมลาวาส มีชื่อจีน “ วัดเล่งเน่ยยี่ ” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า “ เล่ง ” แปลว่า มังกร , คำว่า “ เน่ย ” แปลว่า ดอกบัวและคำว่า “ ยี่ ” แปลว่า อารามหรือวัด ทางด้านหน้าของวัดติดกับถนนเจริญกรุงนั้น เป็นบริเวณย่านการค้า ของชาวไทยเชื้อสายจีนตลอดสาย ด้านหน้าทางเข้าวัดมีร้านขายของเครื่องเซ่นไหว้และขนมต่างๆ เมื่อเดินเข้ามาภายในบริเวณวัดจะเป็นลานกว้าง ด้านหน้าจะเป็นวิหารท้าวจตุโลกบาล ทางด้านขวามือจะเห็นศาลเจ้า ส่วนทางด้าน ซ้ายมือจะมีศาลา และเมื่อหันหลังกลับไปจะเห็นตึก 9 ชั้น ที่มีชื่อว่า “ ตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรม ” ซึ่งเริ่มก่อสร้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ภายใต้การควบคุมของวิศวกรรมยุทธโยธากองทัพบกและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะจีนตึกนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ และมี โรงเรียนมังกรกมลาวาสวิทยาลัย ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2533 โดยพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ ( ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว )  เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมสายสามัญศึกษาของวัดมังกรกมลาวาสที่มีการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 และยังเป็นโรงเรียนแห่งแรกของคณะสงฆ์จีนในประเทศไทยอีกด้วย
          สถาปัตยกรรมของวัดมังกรกมลาวาสนั้น เป็นการวางผังตามแบบลักษณะสถาปัตยกรรมจีนทางตอนใต้ โดยมีลักษณะแบบสกุลช่างแต้จิ๋วเป็นหลัก การวางผังถืดตามแบบพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ตัวอาคารจะวางล้อมลานเรียกว่า “ ซี่เตี่ยมกิม ” เป็นแบบ เฉพาะของตัวอาคารพื้นถิ่นแต้จิ๋ว การจัดวางวิหารถือตามแบบวังหลวง โดยมีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก อุโบสถอยู่กลาง ด้านหลังพระอุโบสถมีวิหารบูรพาจารย์ ตัวอาคารทั้งหมดในวัดประกอบด้วยอิฐและไม้ เป็นโครงสร้างสำคัญ โดยเฉพาะโครงสร้าง
          หลังคาวิหารท้าวจตุโลกบาล แสดงโครงสร้างคานขื่อตามแบบแต้จิ๋วอย่างสวยงาม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบจีนโบราณ มีการประดับตกแต่งอาคารด้วยกระเบื้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ประกอบด้วยลวดลายสิริมงคลตามความเชื่อจีน มีการวาดลวดลาย และแกะสลักลวดลายปิดทองอย่างสวยงาม
          หน้าประตูวัดมีป้ายจารึกชื่อวัดเป็นภาษาไทยว่า “ ทรงพระราชทานนามวัดมังกรกมลาวาส ” และมีป้ายสีแดงภาษาจีนทำ จากไม้ที่เป็นลายมือของพระอาจารย์สกเห็ง ( เจ้าอาวาสองค์แรกของวัด ) ประตูทางเข้าทั้งสองด้านมีป้ายแขวนคำโคลงคู่มีความ หมายว่า
          - ป้ายด้านซ้ายมือ หมายความว่า “ มังกรเหินสู่สวรรค์ ณ ถิ่นนี้ ”
          - ป้ายด้านขวา หมายความว่า “ ประทุมประทีปส่องสว่างกลางเวหา ”
          โคลงนี้เป็นโคลงที่แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง โดยจักรพรรดิกวงซื่อ ในปี ค.ศ. 1879 และถือได้ว่าเป็นงานศิลปะด้านการเขียน ลายมือจีนที่มีค่ามากชิ้นหนึ่ง นอกจากนี้ภายในวัดยังมีป้ายที่เขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 มีอายุกว่า 100 ปี ที่กล่าวถึงปรัชญาต่างๆ อีกจำนวนหนึ่ง
          ภายในอุโบสถของวัดมังกรกมลาวาสเป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระศากยมุนีพุทธเจ้า และ วิหารด้านหน้า ประดิษฐานท้าวจตุโลกบาลข้างละ 2 องค์ เป็นรูปหล่อปูนเขียนสีแต่งกายแบบนักรบจีน ส่วนด้านข้างเป็นเทพเจ้าตามความเชื่อของ ลัทธิเต๋าและเทพเจ้าพื้นเมืองของจีน เช่นเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา (ไท้ส่วยเอี๊ยะ) เทพเจ้าแห่งยา (เซียงซือกง) เทพเจ้าแห่งโชคลาภ (ไฉ่ซิ้งเอี๊ยะ) และยังมีรูป 18 พระอรหันต์ตั้งอยู่ทั้งสองข้างของวิหาร ซึ่งรวมเทพเจ้าได้ทั้งหมด 58 องค์ 
          นอกจากนี้ภายในอุโบสถ ของวัดยังมีตู้เก็บป้ายวิญญาณของครอบครัวที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างวัดอีกด้วย ซึ่งจะมีการสวดมนต์ให้ในวันครบรอบวันเสียชีวิตและเทศกาลต่างๆ โดยทางครอบครัวจะเป็นผู้กำหนด




ประวัติความเป็นมาของวัดมังกรกมลาวาส

          วัดมังกรกมลาวาส เดิมชื่อ วัดเล่งเน่ยยี่ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๔๓๒ ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช) รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงกรุณาโปรดกล้าฯ ให้เลือกชัยภูมิที่ตั้งวัดเนื้อที่ ๔ไร่ ๑๘ ตารางวา โดยให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าซ้ายร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ ๘ ปี จึงแล้วเสร็จให้ชื่อว่า “เล่งเน่ยยี่” ซึ่งมีความหมายคือ เล่ง แปลว่า มังกร เน่ย แปลว่า ดอกบัว ยี่ แปลว่า อาราม วัด
         การตั้งชื่อวัดตั้งตามหลักโบราณจีนคือการตั้งตามชัยภูมิ ฮวงจุ้ย ทำเลนั้นๆ ซึ้งนับเป็นสังฆารามตามลัทธินิกายมหายานที่มีศิลปะงดงามและใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทยซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานพระกรุณาโปรดกล้าฯจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว(พระปิยมหาราช) รัชกาลที่ ๕ พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมังกรกมลาวาส” โดยได้อาราธนาพระอาจารย์สกเห็งเป็นเจ้าอาวาส และทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระอาจารย์สกเห็ง เป็นพระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกในประเทศไทย และเป็นปฐมบูรพจารย์ของวัดมังกรกมลาวาส ท่านเป็นพระที่มีความเมตตา เชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน ท่านทราบว่าชีวิตของท่านจะดับขันธ์จึงเจริญวิปัสสนาจนหมดลมปราณและมรณภาพในอิริยาบถนั้น
         กาลต่อมาเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ พระอาจารย์กวยหงอ ได้สร้างหอไตรปิฎก และกุฏิเจ้าอาวาสขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้รบพระราชทาน สมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่
         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๓ พระอาจารย์โล่วเข่ง ได้บูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถและพระพุทธรูปในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้รับพระราชทานสมณคักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่ ๓
         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ พระอาจารย์ฮวบจง ได้สร้างเจดีย์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ แต่เนื่องจากท่านเดินทางกลับไปยังประเทศจีน เพื่อรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดน่ำฮั่วยี่ จึงไม่ทันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์
         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๕ พระอาจารย์ย่งปิง ได้สร้างศาลาบุญโญทัยในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร รักษาการเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่ ๔
         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ พระอาจารย์เซี่ยงหงี ได้บูรณปฏิสังขรณ์ภาในวัด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์วังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่ ๕
         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๗ พระอาจารย์โพธิ์แจ้ง ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราชให้เป็นอุปัชฌาย์รูปแรกแห่งจีนนิกายในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ต่อมาสมเด็จพระสังฆราชทรงมีบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ และได้เลื่อนสมณคักดิ์จากหลวงจีนคณาณัติจีนพรต เป็นที่พระอาจารย์ธรรมสมาธิวัตรเจ้าคณะใหญ่จีนนิกายองค์ที่ ๖ ซึ่งได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ตลอดจนได้รับปรับปรุงระเบียบการบรรพชาอุปสมบท ฝ่ายจีนนิกายให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์วังสสมาธิวัตรพุทธบริษัทจีนเนตาในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ได้บูรณปฏิสังขรณ์โดยใช้โมเสคติดผนังทั้งหมดและพื้นขัดหินอ่อนหลังจากนั้นได้สร้างตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรมสูง ๙ ชั้น เพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลแด่องค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระจลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๕ ซึ่งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อคณะสงฆ์จีนเป็นล้นพ้น อีกทั้งเพื่อเป็นกิตยานูสรณ์เฉลิมพระบารมีแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง ๒ ปี ๔ เดือน จึงแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐
          คณะสงฆ์จีนนิกายและคณะกรรมการจัดงานได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรม “หอพิพิภัณฑ์วัตถุธรรม วัดมังกรกมลาวาส” เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ อีกทั้งยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาติให้อันเชิญพระปรมาภิไธยย่อ “ภ.ป.ร.” ประดิษฐานที่พระกริ่งไวโรจนพุทธ เพื่อมอบแก่พุทธศาสนิกชนผู้บริจาคทรัพย์โดยเสด็จพระราชกุศล ภายหลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิแจ้งมหาเถระ) เสมอด้วยชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนา
         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ พระอาจารย์เย็นเจี่ยว ได้ช่วยดูแลควบคุมการก่อสร้างตึกพิพิธภัณฑ์วัตถุธรรม ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนธรรมคณาธิการ ไพศาลสมณกิจ
         เจ้าอาวาสองค์ที่ ๙ พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ ( ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว ) ท่านเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์โพธิ์แจ้งมหาเถระเจ้าอาวาสองค์ที่ ๗ มารับตำแหน่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนวินยานุกรท่านได้วางแบบพัฒนาปรับปรุงระบบต่างๆ ของวัด ทั้งด้านบุคคลและวัตถุให้เป็นระเบียบ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอาจารย์จีนธรรมคณาธิการ ไพศาลสมณกิจท่านได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด ตลอดจนสร้างกุฏิสงฆ์และหอฉันในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้บูรณะปฏิสังขรวิหารและองค์ท้าวจตุโลกบาล ในปีถัดมาได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระคณาจารย์จีนธรรมวิริยาจารย์ ไพศาลสมณกิจ ท่านอาจารย์ก็ยังคงพัฒนาและปรับปรุงเสนาสนะต่างๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านได้เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ( โรงเรียนมังกรกมลาวาสวิทยาลัย ) วัตถุประสงค์เพื่อสร้างศาสนทายาท ตลอดจนให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาสและเป็นการช่วยรัฐและสังคมทางหนึ่ง
         จะเห็นได้ว่าอาจารย์เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ให้ความต่อการพัฒนาบุคคล เพื่อจะเป็นกำลังของศาสนาและสังคมโดยส่วนรวมต่อไปในอนาคตข้างหน้า ดังนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระคณาจารย์จีนธรรมวิริยาจารย์ ไพศาลสมณกิจประสิทธิ์สิริมงคลคุณาภิวัฒน์ถึง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ไพศาลสุนทรสมณกิจ สิริมงคลประสิทธิ์คุณาภิวัฒน์ พุทธบริษัทจีนวิเนตา จริยคุณของท่านอาจารย์จึงนับว่าได้ฟื้นฟูวัดมังกรกมลาวาสให้เจริญรุ่งเรืองและสืบทอดบวรพุทธศาสนาให้แผ่ไพศาลด้วยวิริยคุณเป็นเอนกอนันต์ตลอดจนเป็นคุณประโยชน์แก่บรรดาพุทธบริษัทตลอดกาล

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โอวาทธรรม... พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์(เย็นเชี้ยวมหาเถระ)

พระประธานวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ

เทศกาลทิ้งกระจาดมหาทาน (โผวโต่วหู่จิง)

"สิ่งแวดล้อมสร้างอัศวิน" ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว

สามเณรน้อยเล่งเน่ยยี่ .

ประวัติพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์(เย็นเชี้ยวมหาเถระ)

ประวัติวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์

เสาทั้ง 4 ในอุโบสถ ณ วัดบรมราชาฯ (เล่งเน่ยยี่2)