สามเณรน้อยเล่งเน่ยยี่ .



         สามเณรเดินบิณฑบาตตามหลังพระสงฆ์เป็นภาพที่เราคุ้นตา แต่ไม่เคยเกิดขึ้นสำหรับศาสนาพุทธ นิกายมหายาน ทั้งๆ ที่มีสามเณรที่ปฏิบัติธรรมและเล่าเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ เณรน้อยเหล่านี้ในอดีตคือเด็กฐานะยากจน ที่ได้รับการหยิบยื่นโอกาสให้ได้เรียนหนังสือจนถึงระดับอุดมศึกษา 

      "ซือหูจะสร้างศาสนทายาทเพื่อให้โอกาสทางการศึกษาเล่าเรียนแก่ผู้ด้อย โอกาส   อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือสังคมและภาครัฐอีกด้วย   โดยหวังว่าเยาวชนเหล่านี้  เมื่อเข้ามาบรรพชาแล้วจะได้รับการอบรมคุณธรรม จริยธรรม  นำคำสอนของศาสนามากล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนดี"  นี่คือปณิธานเกี่ยวกับศึกษาของพระภิกษุสามเณรโรงเรียนวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่)  ของพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัด ผู้สถาปนาโรงเรียนประจำวิถีพุทธมหายาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เพื่อสร้างทายาทสืบทอดพระพุทธศาสนา

         ปัจจุบันโรงเรียนวัดมังกรกมลาวาสวิทยาลัย  เปิดรับเยาวชนไทยเข้าบวชเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา  ประเภทการศึกษาสงเคราะห์แบบอยู่ประจำเรียนฟรี  สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  เปิดสอนตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ จัดการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 มีวิชาการเรียนการสอนมีครบทั้ง  8  กลุ่มสาระ และยังมีวิชาทางพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานด้วย

        เหตุที่ว่า ช่วงนี้ตรงกับเทศกาลตรุษจีน  โรงเรียนวัดมังกรกมลาวาสจึงหยุดพักการเรียนการสอนชั่วคราว  สามเณรส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างช่วยงานจิปาถะภายในวัด  ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากเข้ามากราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันอย่าง แน่นขนัด   อีกส่วนหนึ่งเดินทางไปวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ หรือวัดเล่งเน่ยยี่ 2 จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากกำลังมีงานปิดทองฝังลูกนิมิต ระหว่างวันที่ 23 ม.ค.-3 ก.พ.นี้

         พระศิริชัย  ภมรศิลปธรรม  หรือเสี่ยใช้ ผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนมังกรกมลาวาสวิทยาลัย เล่าว่า สามเณรส่วนใหญ่เป็นเด็กมาจากต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค  พื้นฐานทางครอบครัวคล้ายกันคือ  เป็นเด็กกำพร้า ครอบครัวแตกแยก  พ่อแม่ ผู้ปกครองให้มาบวชเพราะติดเพื่อน  ติดเกม หรือกลัวจะติดยาเสพติด จึงส่งลูกหลานมาเรียนที่วัด  พ่อแม่บางคนกังวลว่าลูกจะตกเป็นทาสในสังคมบริโภคนิยม  ก็ให้ลูกบวชเพื่อฝึกอบรมบ่มเพาะวินัย และขัดเกลากิเลสให้เป็นคนมีจิตใจดีงาม  นอกจากให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาสแล้ว  ยังช่วยแก้ปัญหาสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย

         สำหรับตารางกิจวัตรประจำวันของสามเณร เริ่มต้นเวลาตี  4 ครึ่ง ตื่นนอนเตรียมตัวทำวัตรเช้า นั่งสมาธิสวดมนต์แผ่เมตตา  จากนั้นจัดโต๊ะอาหารและฉันเช้าเวลา 8 โมง โดยไม่บิณฑบาต เพราะต้องฉันอาหารเจที่โรงครัวในวัด  หลังฉันเช้าเสร็จก็จะทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น  ทำความสะอาดบริเวณวัดและเริ่มเรียนพุทธมนต์  ศึกษาพระธรรมวินัยเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนจะฉันเพลอีกครั้งเวลา 11 โมง  เวลาบ่ายโมงเข้าห้องเรียนวิชาสามัญตามหลักสูตรภาคบังคับของกระทรวง ศึกษาธิการ   พอถึงเวลาบ่าย 3 โมง ทำวัตรเย็นแล้วกลับเข้าห้องเรียนอีกครั้ง เวลา 5 โมงเย็นจนถึง 2 ทุ่ม เป็นอันเสร็จสิ้นวัตรปฏิบัติในแต่ละวัน

       "สามเณรมีจำนวน  200 รูป เข้าเรียนตั้งแต่วันจันทร์ถึงเสาร์ โดยมีครูประจำการสอน 8 คน และมีอาจารย์โรงเรียนเทพศิรินทร์มาช่วยสอนบางวิชา  สามเณรทุกรูปจะได้เรียนภาษาจีนกลางที่วัดเน้นมากเป็นพิเศษ   สำหรับวันหยุดเป็นวันอาทิตย์และวันพระ จะมีกิจกรรมชุมนุม อาทิ   จิตพัฒนา  การงานอาชีพ คอมพิวเตอร์ และงานศิลปะ" พระศิริชัยกล่าว

         สามเณรบัญชา  ปิดตาทานัง  กำลังศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษาปีที่  1  เล่าว่า ตอนแรกที่รู้ว่าจะมาบวชรู้สึกตื่นเต้นมาก  พอโยมพ่อโยมแม่กลับบ้านแล้วก็รู้สึกเหงา และเศร้าจนร้องไห้อยากกลับบ้าน เมื่อเวลาผ่านไปทำให้เริ่มปรับตัวได้  ไม่อยากกลับบ้านแล้ว ขณะนี้มีความสุขที่ได้บวชให้พ่อแม่เป็นครั้งแรกในชีวิต  พ่อแม่ผมบอกให้อยู่จนจบ ม.6  ผมจะตั้งใจปฏิบัติธรรมและศึกษาเล่าเรียน เมื่อเรียนจบแล้วค่อยคิดอีกทีว่าจะบวชต่อหรือลาสิกขา"พ่อแม่เลี้ยงดูผมมาตั้งแต่เด็กและตามใจผมทุกอย่าง  แต่ตอนนี้ผมต้องตามใจพ่อแม่บ้าง พ่อบอกให้ผมมาบวชเพราะตั้งใจให้ผมเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม ผมจะไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจอีกต่อไปแล้ว" สามเณรบัญชากล่าว

         สามเณรภาคภูมิ พงศ์ศุภะมงคล  ชั้น ม.1  เผยว่า เมื่อก่อนเคยเป็นเด็กซุกซน  ทุกเย็นเมื่อเลิกเรียนก็จะต้องไปเล่นเกม  ไม่ยอมอ่านหนังสือทำการบ้าน จนวันหนึ่งแม่โทร.ไปปรึกษาลุงว่าจะทำอย่างไรดี  ลุงบอกว่าที่วัดมังกรฯ มีบวชเณรเรียนหนังสือ และเป็นวัดที่มีระเบียบมาก  วันแรกที่ต้องนอนวัด ผมไม่รู้จักใครเลยจึงคิดหนีจะกลับบ้าน แต่พอนึกถึงแม่ก็คิดว่าจะต้องทำภารกิจนี้ให้ได้
             
           ขณะที่ สามเณรประธาน  ชั้น ม.4  บอกว่า การที่ได้มาบวชเรียนที่นี่ทำให้เรียนรู้ความอดทน ไม่ยึดติดกับความสุขสบาย  ส่วนเรื่องเรียนขณะนี้มีความสนใจทางด้านคอมพิวเตอร์ ถ้าเป็นไปได้อยากเรียนต่อทางด้านนี้ให้สูงขึ้น และที่สำคัญคือ ชีวิตทุกวันนี้ต้องการทำเพื่อแม่ให้มีความสุขมากที่สุด

          ด้าน พระชัชนนท์  กำลังศึกษาระดับอุดมศึกษา  คณะศิลปศาสตร์  เอกภาษาจีน ซึ่งวัดมังกรฯ ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา  เล่าว่า   หลังเรียนจบ ม.6  แล้ว ก็ความตั้งใจที่จะเรียนต่อให้สูงที่สุด  อีกทั้งเจ้าอาวาสวัดก็ต้องการให้เยาวชนศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม ตามหลักพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานนิกายจีน

         "กฎระเบียบของโรงเรียนที่นี่  สามเณรต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด   ต้องมีสัมมาปฏิบัติและความศรัทธาในวัตรปฏิบัติอันงดงามของคณะสงฆ์จีนนิกาย ตามพระธรรมวินัย   เอาใจใส่ต่อการศึกษาเล่าเรียนตามที่พระครูอบรมสั่งสอน  ทำประโยชน์ต่อวัดและโรงเรียน  อีกทั้งยังต้องเสียสละตนเพื่อพระพุทธศาสนา ผู้บวชสามารถลาสิกขาได้ก็ต่อเมื่อจบการศึกษาในแต่ละระดับช่วงชั้น (ม.3 และ ม.6)"

           พระชัชนนท์กล่าวว่า  สามเณรที่นี่ส่วนใหญ่เรียนจบ  ม.6  ส่วนหนึ่งลาสิกขาออกไปทำงานช่วยเหลือพ่อแม่ หรือเรียนต่อระดับอุดมศึกษา เพื่อนที่รู้จักก็เพิ่งจะสอบเข้าได้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ไม่รู้ว่ามีใครสอบเข้าจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ได้บ้าง  อีกส่วนหนึ่งที่บรรพชาต่อเป็นพระภิกษุก็จะลงทะเบียนเรียนมหาวิทยาลัยเปิด เช่น  สุโขทัยธรรมาธิราช รามคำแหง ส่วนคณะที่เลือกเรียนคือ ศิลปศาสตร์และนิติศาสตร์ เป็นหลัก

           "สามเณรที่นี่ทุกคนจะมีระเบียบวินัย เช่น ถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ ก็จะห้ามออกนอกวัด แต่ให้พ่อแม่เข้ามาเยี่ยมได้  การเดินต้องเข้าแถวเพื่อให้เกิดความสามัคคี   ส่วนการสวดมนต์จะเป็นแบบมนต์จีน กราบพระแบบทิเบต   และถือศีลพระโพธิสัตว์ เช่น ฉันเจเพื่อละเว้นการเบียดเบียนสัตว์   สามเณรที่เข้ามาบวชใหม่ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์จีน" พระชัชนนท์กล่าว
          สำหรับคุณสมบัติของผู้จะเข้าบวชเรียนคือ  จบ ป.6  และ  ม.3  สวัสดิการและค่าใช้จ่ายในการบรรพชาและระหว่างอยู่จำพรรษา  เจ้าอาวาสวัดรับอุปถัมภ์ทั้งหมด เมื่อสำเร็จการศึกษาในแต่ละระดับชั้นชั้นคือ  ม.3  และ  ม.6  กระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยาฐานะ พ่อแม่ ผู้ปกครองที่สนใจส่งบุตรหลานบวชเรียน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.lengnoeiyi.com หรือ 0-2222-3975 ต่อ 15 



ที่มา : ไทยโพสต์

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โอวาทธรรม... พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์(เย็นเชี้ยวมหาเถระ)

พระประธานวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ

เทศกาลทิ้งกระจาดมหาทาน (โผวโต่วหู่จิง)

ประวัติวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ

"สิ่งแวดล้อมสร้างอัศวิน" ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว

ประวัติพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์(เย็นเชี้ยวมหาเถระ)

ประวัติวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์

เสาทั้ง 4 ในอุโบสถ ณ วัดบรมราชาฯ (เล่งเน่ยยี่2)