"สิ่งแวดล้อมสร้างอัศวิน" ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว
พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์
(ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว) รองเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย
เจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่
ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการศึกษาพระเณร
กระแสธารทุนนิยมถาโถม การศึกษาทางธรรมจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทางโลก พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ หรือท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว รองเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ ในวัย 74 ปีทุ่มเททั้งชีวิต มุ่งสร้างวิถี 'สิ่งแวดล้อมสร้างอัศวิน' ให้กับการศึกษาพระเณร
ท่ามกลางการรุกคืบของทุนนิยมที่มาในนามของความสุขและความสะดวกสบาย กำลังเบียดรากประวัติศาสตร์อันก่อเกิดมาเป็นเราในวันนี้ ไม่ว่าเราจะมาจากเชื้อชาติใด สัญชาติใดต่างหลีกไม่พ้นที่จะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายของสิ่งเหล่านี้
เช่นเดียวกับ'วัดมังกรกมลาวาส' หรือ 'วัดเล่งเน่ยยี่' ที่มีเสียงสวดมนต์ทุกเช้าค่ำจากพระไตรปิฎกจีน โดยพระเณร จีนนิกาย เซน มหายาน บอกเล่าถึงความเป็นจริงของสรรพสิ่งอันเป็นมายาภาพ และหนทางเดียวที่จะหลุดออกจากภาพลวงตาเหล่านั้นก็คือ การเห็นความคิดปรุงแต่งทั้งหลายว่าไม่ใช่เรา ตัวตนเที่ยงแท้ถาวรนั้นไม่มีอยู่จริง สังขารนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา หัวใจของการเห็นธรรมเช่นนี้จะทำให้เราหลุดออกจากความทุกข์ทางใจในทันที ขอเพียงแต่ให้เราได้รู้ความหมายขณะฟังเสียงสวดมนต์อย่างลึกซึ้งด้วยใจที่ ว่างจากความคิดปรุงแต่งก็พอ...
และแล้วเวลาผ่านไป 142 ปี เมื่อวัดเล่งเน่ยยี่ ศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายจีน ใจกลางเยาวราช กรุงเทพมหานครถูกโครงการที่มาพร้อมกับทุนนิยม เช่นโรงแรม และโครงการของสถานีรถไฟฟ้ามาจ่อจอดอยู่หน้าวัด อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปจากนี้ หากไม่ได้เจ้าอาวาสที่เข้มแข็งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชนอย่างพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ หรือท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว รองเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ ประธานสร้างวัด และรักษาการเจ้าอาวาสวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2)จังหวัดนนทบุรี ในวัย 74 ปีที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการศึกษาพระเณรมาตลอด 52 พรรษาของท่าน ที่ทำให้ท่านเห็นว่า การศึกษาทางธรรมมีความสำคัญเพียงใด ก็จะต้องให้พระเณรเรียนเรื่องโลกไว้ด้วย เพื่อที่จะได้เท่าทันสิ่งที่กำลังลุกคืบมาอย่างรู้ทัน
เช่นนี้เอง ในอนาคต โรงเรียนมังกรกมลาวาสวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมของพระเณรจะขยับขยายสู่การศึกษาของสงฆ์ใน มหาวิทยาลัยเต็มรูปแบบ เป็นการการเรียนรู้ทางโลกและทางธรรมไปพร้อมๆ กันเพื่อให้พบกับความเป็นจริงในระดับปรมัตถธรรม และนี่คือวิถีของ 'สิ่งแวดล้อมสร้างอัศวิน' ที่เรากำลังชวนผู้อ่านกายใจสนทนากับท่านกันในขณะนี้
กายใจ : ทำไมท่านเจ้าคุณจึงบวช
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2502 หรือ 54 ปีก่อน หลวงพ่อได้ไปพบกับพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ โพธิ์แจ้งมหาเถระ อดีตเจ้าคณะใหญ่ สงฆ์จีนนิกาย ท่านเป็นพระมหาเถระที่มีชื่อเสียง ตั้งใจก่อสร้างให้คณะสงฆ์จีนมั่นคง และบริสุทธิ์ หลวงพ่อไปกราบท่าน ท่านก็บอกว่ามาบวชพระสิ บวชสักระยะหนึ่ง ท่านพูดแค่นั้น หลวงพ่อก็บอกว่า บวชก็บวชสิ บวชโดยไม่มีข้อแม้ว่าจะบวชนานเท่าไหร่ บวชเพื่ออะไร แต่ในใจคิดว่าบวชเพื่อศึกษา บวชเพื่อสงบจิตสงบใจ เพื่อศึกษาธรรมะบ้าง แค่นี้เอง ก็บวชไปปีหนึ่ง ปีหนึ่ง จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ 54 พรรษาแล้ว
กายใจ : ท่านเจ้าคุณเกิดที่ไหน
หลวงพ่อเป็นคนจีนแต้จิ๋ว เกิดกรุงเทพฯ โตกรุงเทพฯ เรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ แล้วก็อยู่กรุงเทพฯมาตลอดเลย แต่คุณพ่อคุณแม่มาจากประเทศจีน ที่หลวงพ่อมาบวชเพราะเรียนภาษาจีนมาตลอด หลังจากบวชแล้วก็ได้รับใช้ท่านโพธิ์แจ้งมหาเถระมาตลอดเช่นกัน ถึงบวชโดยไม่มีข้อแม้ ท่านใช้ให้ทำอะไรเราก็ทำทั้งนั้น ใช้ให้เราไปสอนเราก็ไป ไม่มีข้อแม้
กายใจ : ก่อนบวชเคยมีความรักไหม
(หัวเราะ) ความรักมีสองแบบ คือ รักอย่างทางโลกกับรักอย่างทางธรรม รักอย่างทางธรรมเรียกว่าเมตตา กับ กรุณา หลวงพ่อสอนพระเณรมา 52 ปีเต็มหลังจากบวชมาได้สองปี ก็เป็นอาจารย์สอนพระมาตลอด หลวงพ่อรักพระเสมอภาคกัน แม้คนนั้นจะสอนยากหน่อย เราก็ให้ความรักความเมตตา ความจริงใจกับเขา ความมีน้ำใจของเราจะทำให้เขาเห็นว่าอะไรคือความดี อะไรคือความไม่ดี อะไรคือความถูก อะไรคือความผิด หลวงพ่อรักพระเณรเช่นนี้ ตลอดจนญาติโยมทั้งหลาย เรียกว่า ความเมตตากรุณา
ความฝันของหลวงพ่อคือ ต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ จากเหตุที่เกิดทุกข์ ให้เขาพบกับความสุข ด้วยเหตุที่เกิดสุข นี่คืออุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
กายใจ : วัตรปฏิบัติของพระตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาค่ำทำอะไรบ้าง
จริงๆ วัดของเราเหมือนวัดในประเทศจีน แล้วก็รับกับทางเถรวาทไทย เช้าต้องทำวัตร เย็นต้องทำวัตร เช้าต้องนั่งสมาธิ เย็นต้องนั่งสมาธิ แล้วทุกคนต้องเรียนพระธรรม ทั้งทางโลกด้วย ทั้งทางธรรมด้วย นี่เป็นชีวิตประจำวันของพระสงฆ์ในวัดเรา
พระมหายานเราไม่บิณฑบาต เพราะเราฉันเจ ถ้าบิณฑบาตจะลำบาก เขาใส่อะไรมาบางทีจะเอาออกก็ไม่ได้ ต้องเปิดครัวเอง และหลวงพ่อทำอาหารเป็นอย่างเดียว เต้าเจี้ยวหลน อร่อยเป็นพิเศษ จะบอกวิธีทำให้ เอาเต้าเจี้ยวขาวอย่างดี บีบให้แห้งแล้วมาตำจนเนื้อค่อนข้างละเอียด จากนั้นไปเจียวกับน้ำกะทิ ไปใส่หัวหอม พริก เต้าหู้ผสมลงไปจะออกมาในรสชาติที่กลมกล่อม อร่อยมาก
กายใจ : การกินเจมีผลกับการปฏิบัติธรรมให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง
พุทธศาสนาเราฉันเจด้วยความเมตตาเป็นหลัก เมตตาคือ ไม่เอาเนื้อของเขามาเป็นเนื้อของเรา ไม่เอาชีวิตมาต่อเติมชีวิตของเรา ไม่เอาความสุขของเราตั้งอยู่ในความทุกข์ของผู้อื่น ผู้ที่ฉันเจแล้ว เกิดเมตตาขึ้นมา ใจเขาทำอะไรเขาจะมีจิตสำนึกอย่างหนึ่งว่าจะทำอะไรแล้วเขามีความทุกข์ไหม เพราะฉะนั้นการฉันเจ ช่วยเมตตาของเราให้มั่นคงยิ่งขึ้น แต่ว่าต้องทำใจ ถ้าทำใจไม่ได้ การกินเจก็ไม่ได้ผล จิตใจต้องมั่นคง จิตใจต้องแน่วแน่ จิตใจต้องอยู่ในความรู้สึกว่า เราจะแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย นี่คือเหตุผลของการกินเจ
และมันเป็นกฎ เป็นพระวินัยอย่างหนึ่งของฝ่ายมหายาน นอกจากบางนิกายที่เขาแยกออกไป เขาก็ไม่ฉันเจ อุดมการณ์ของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเราต้องฉันเจเป็นหลักการปฏิบัติ
กายใจ : สุขภาพของท่านเจ้าคุณเป็นอย่างไรบ้าง
ฉันเจมา 54 ปีแล้วก็ยังพอไปได้ ก็เป็นไปตามสังขาร ตอนนี้อายุ 74 ปีแล้ว เดินไปไหนก็เมื่อยเป็นธรรมดา และไม่ได้ขาดสารอะไรเพราะเรามีถั่ว โปรตีน เต้าหู้แทนได้ แม้คนส่วนใหญ่จะเป็นโรคความดัน โรคหัวใจ แต่หลวงพ่อไม่มีซักโรคเลย มีแต่ตอนสมัยเรียนหนังสือ เป็นนักบาสเกตบอล รับประทานอาหารไม่เป็นเวลาก็มีปัญหาเรื่องกระเพาะนิดหน่อย
กายใจ: แล้วท่านเจ้าคุณเคยโกรธไหม
พระกลัวเชียวแหละ
กายใจ: วัดเล่งเน่ยยี่เปลี่ยนแปลงไหม เพราะสังคมข้างนอกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ
วัดมังกรกมลาวาสอายุ 142 ปีแล้ว เป็นวัดแม่ของคณะสงฆ์จีน เมื่อมีวัดมังกรฯเกิดขึ้นมาจึงมีวัดต่างๆ เกิดขึ้น และมีพระราชบัญญัติในการปกครองคณะสงฆ์จีน เมื่อก่อนเล่งเน่ยยี่ยังไม่เป็นวัดก็ยังไม่มีการปกครองคณะสงฆ์จีน เมื่อมีวัดเล่งเน่ยยี่ จึงมีการปกครองคณะสงฆ์จีนขึ้นมา มีการแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ มีพระราชบัญญัติรับรองว่าเป็นวัดที่ถูกต้อง
กายใจ : เหตุที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาถวายปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ให้กับท่านเจ้าคุณ
เรื่องมอบปริญญาบัตร หลวงพ่อไปสอนให้กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเรื่องจริยศาสตร์ มาหลายปีแล้ว จนจบปริญญาไปสองรุ่น และเขาเห็นว่าการทำงานของเราให้กับเยาวชนรุ่นหลังและปลุกปั้นคนรุ่นหลังขึ้น มาเป็นคนดีอย่างใจจริง ไม่มีข้อแม้ว่าเขาจะต้องมาตอบแทนบุญคุณเรา เขาก็เลยมอบให้เป็นเกียรติคุณ
กายใจ : การศึกษาทางธรรมมีความสำคัญกับทางโลกมากเพียงใด
เพราะธรรมะเป็นทางเดินบนหนทางที่สว่าง ที่ราบเรียบ ที่ถูกต้อง ถ้าไปเรียนทางโลกมาก พระเณรของเราก็จะไปทางโลกมาก แต่ทางธรรมก็ต้องรู้ ทางโลกก็ต้องเรียน คือโลกธรรม กับโลกุตรธรรมเป็นของคู่กัน ทางโลกก็ต้องรู้ว่าเขาวิวัฒนาการไปถึงไหนแล้ว ในยุคที่วัตถุนิยมเขาก้าวหน้าไปถึงไหนแล้ว เราจะต้องรู้ทางโลกแล้วจึงจะสอนโลกได้ สอนคนได้ บางทีสอนทางธรรมพูดซะปากแห้ง เขาไม่ฟังกัน แต่สนทนาทางโลกกับเขา เขากลับคุยกับเรา มันจิตต่อจิตตรงกัน เป็นปรัชญาอย่างหนึ่ง ดังนั้นต้องพูดทางโลกด้วย พูดทางธรรมด้วย จะได้พูดกันได้ง่าย
กายใจ : ทำไมท่านเจ้าคุณจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ
การศึกษาเสมือนกับการเดินทาง มันจะต้องรู้จักทางก่อนจึงจะไปสู่จุดหมาย เราต้องชี้ทางให้เขาเดินตรงๆ ไปบนหนทางที่สว่าง เดินไปบนหนทางที่ราบรื่น เดินทางไปสู่สิ่งที่ดี ก็จะพบกับความเจริญในชีวิตทางด้านจิตใจ คือความสงบเย็น ดังนั้น สามเณรที่มาบวชเรียนที่วัดเล่งเน่ยยี่ โรงเรียนมังกรกมลาวาสวิทยาลัย จึงนิยามคุณธรรมและความดีแห่งชีวิตเป็นการนำร่องการศึกษาถ้าเราให้การศึกษาทางโลกมากเกินไปก็จะออกนอกลู่นอกทาง เราจึงให้การศึกษาทางธรรมและทางโลกควบคู่กันไป จึงเน้นหนักในเรื่องพระธรรมวินัย และให้เรียนรู้เรื่องโลกธรรมด้วย จึงจัดให้มีการศึกษาขึ้นมา
กายใจ: จึงได้ตั้งเป็นโรงเรียนขึ้นมาเลยหรือ
เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เรียนทั้งธรรมะ ภาษาจีน และทางโลก 8 กลุ่มสาระ อาทิตย์หนึ่งในชั้นมัธยมต้นต้องเรียนภาษาจีน 6 ชั่วโมง มัธยมปลายต้องเรียนภาษาจีน 8 ชั่วโมง สามเณรที่เรียนมาจากทั่วประเทศไทย ส่วนมากจะมาจากภาคกลาง
เด็กของเราเหล่านี้ หลวงพ่อมีความรู้สึกว่า ถ้าไม่ได้เปิดโรงเรียนรับเด็กเข้ามา เด็กเหล่านี้จะพลาดโอกาสที่ดีของชีวิตเขา เพราะเด็กบางคนพ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน บางคนพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงมาตั้งแต่เด็ก แล้วเด็กพวกนี้ เรื่องเศรษฐกิจในการที่จะไปศึกษาโรงเรียนดีๆ ก็ยาก
ด้วยประการฉะนี้ ถ้าเราไม่ได้ให้เขาเรียนก็เสมือนกับให้เขาเดินไปในทางอโคจรของชีวิต นี่คือจุดสำคัญ เราจึงต้องรวบรวมเด็กเหล่านี้มาอยู่ในโรงเรียนของเรา แล้วให้การศึกษาเรื่องจริยธรรม คุณธรรม และพระธรรมเป็นสำคัญ ตอนนี้ มีเรียนตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่1 ถึงปีที่ 6 จนถึงปริญญาตรี ปริญญาโท รวมแล้ว 200 รูป แต่หลังจากจบมัธยมปีที่ 6 แล้วหากต้องการไปเรียนร่วมกับมหาวิทยาลัยข้างนอก เราก็จะแค่ไปฝากเขาเรียน
กายใจ : ตั้งใจจะมีมหาวิทยาลัยเป็นของตัวเองหรือไม่คะ
ต้องมีมหาวิทยาลัยรองรับ ตอนนี้ก็มีร่วม 20 คน เราก็มองว่าจะมีวิธีการใดที่จะรองรับนักเรียนที่จบม. 6 ไปแล้วเพื่อศึกษาต่อ ก็ส่งไปเรียนหลายแห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็มี สุโขทัยธรรมาธิราชก็มี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวก็มี เรียนภาษาจีนโดยเฉพาะ ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาก็มี เขามีเรียนศิลปศาสตร์ เอกภาษาจีนด้วย ซึ่งความเป็นอยู่ ค่าใช้จ่าย เรารับผิดชอบหมดเลย ทั้งกินอยู่เจ็บไข้ได้ป่วย อุปกรณ์การศึกษา อาจารย์ที่นี่ เรามีครบบริบูรณ์
กายใจ : พระเณรจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อไปเรียนรู้โลกภายนอก
กายใจ : พระเณรจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อไปเรียนรู้โลกภายนอก
เจริญพร ภาษาจีนเขามีว่า สภาพแวดล้อมสร้างอัศวินขึ้นมา ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี เด็กพวกนี้จะกลายเป็นเด็กที่ไร้ทิศทาง เราจึงตั้งใจให้เขาไปเรียนมหาวิทยาลัย และพยายามให้เขาอยู่ในวัด เรามีอาจารย์พิเศษมาสอนที่นี่ด้วย บางวิชาก็ต้องไปฟังเลคเชอร์ที่มหาวิทยาลัย เราก็ต้องให้เขาไปแม้แต่นอกโลกมันเปลี่ยนแปลง มีสิ่งยั่วยวนมากมาย ถ้าถามว่าแล้วพระเณรที่เรียนจริยธรรมที่สอนไปพอไหมที่จะไปต้านกันสิ่ง ยั่วยวนข้างนอก อันนี้เป็นปัญหาที่เราตั้งใจที่จะควบคุมอย่างยิ่ง เด็กพวกนี้กำลังจะวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ จิตใจจะเปลี่ยนอยู่ทุกขณะ ดังนั้นต้องจับให้มั่นคั้นให้ตายทางด้านจริยธรรม เอาธรรมะชโลมจิตใจเขา จะได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นแหละ
โดย : มนสิกุล โอวาทเภสัชช์
ที่มา : นิตยสารกายใจ สิงหาคม 2556