พระประธานวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ



พระประธาน 3 พระองค์
คือ พระศรีศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบั
พระอมิตาภพุทธเจ้าและ พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต

พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์นี้ เป็นพระประธานในพระอุโบสถ
วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯโดยเปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางของพุทธจักรวาลที่กว้างใหญ่
ไพศาลมีเหล่าพระโพธิสัตว์ พระอรหันต์และเทพธรรมบาลรายล้อมอยู่เป็นจำนวนอเนกอนันต์ในพุทธจักรวาลแห่งนี้

องค์พระประธานแต่ละองค์ ความสูงจากวัชรบังลังค์ถึงยอดพระเกศา ๔ เมตร ๓๐ เซนติเมตร กว้าง ๓ เมตร ๔ เซนติเมตร

พระประธาน จำลองมาจากพระประธานในพระอุโบสถ วัดมังกรกมลาวาส ( เล่งเน่ยยี่ )
ซึ่งปัจุบันถือว่า เป็นพระประธานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นพุทธศิลป์จีนที่มีพุทธลักษณ์งดงาม
พระพักตร์มีลักษณะมหาเมตตา มหากรุณา องค์พระมีพุทธลักษณะที่เด่นเป็นสง่าและงดงามอย่างยิ่ง






พระศากยมุนีพุทธเจ้า
南無釋迦牟尼佛

พระศากยมุนีพุทธเจ้า คือพระสมณโคดมพุทธเจ้า องค์เดียวกับที่ศาสนิกชนชาวไทยทั้งหลายเคารพ กราบไหว้บูชามีพระนามเดิมว่า สิทธัตถะ หรือ สิทธารถะ ประสูติในสกุลกษัตริย์พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระราชบิดา และพระนางสิริมหามายา เป็นพระราชมารดา ประสูติที่สวนลุมพินีในระหว่าง เมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ติดต่อกัน เมื่อก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี( ก่อนคริสต์ศักราช ๖๒๓ ปี ) ครั้นประสูติได้ ๗ วันพระมารดาสิ้นพระชนม์ ได้พระเจ้าน้านางประชาบดี เป็นพระมารดาเลี้ยง ต่อมาได้ทรงศึกษาเล่าเรียนในศิลปะวิทยาการ จากสำนักต่างๆจนจบ และได้ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางพิมพาหรือยโสธรา เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ พรรษา
มีพระโอรสองค์หนึ่ง ชื่อ ราหุล  ด้วยความเห็นว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ จึงตัดสินพระทัย ออกผนวช เมื่อพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างหนัก ก็ไม่บรรลุธรรมอันใด สุดท้ายทรงดำเนินมัชฌิมาปฏิปทา คือ ทางสายกลาง และสำเร็จธรรม ชั้นสูงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในที่สุดทรงตรัสรู้ ความจริงอันประเสริฐ ซึ่งเรียกว่า อริยสัจสี่คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค หลังจากนั้นได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ ตลอด ๔๕ พรรษา ตราบสิ้น พระชนมายุขัย ๘๐ พรรษา ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ ให้ละเว้น ความชั่ว กระทำแต่ความดี
และชำระจิตใจ ของตนให้ผ่องใส คำสอนของพระองค์งดงาม ทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลางและที่สุด เหมาะแก่กาลสมัย






พระอมิตาภพุทธเจ้า
南無極樂世界阿彌陀佛

พระอมิตาภพุทธเจ้าชาวจีนออกพระนาม โดยทับศัพท์ว่า อามีท้อ พระนามเต็มของพระองค์มีอยู่ ๒พระนามคือ อมิตาภะ แปลว่า มีความสว่าง อันประมาณมิได้ และ อมิตายุส แปลว่า มีอายุอันประมาณมิได้ พระนามมีปรากฏอยู่ในพระสูตรมหายานหลายสูตร ที่สำคัญ “สุขาวตีวยูหสูตร” พระสูตรนี้ได้บรรยายถึงความสุขสันต์รื่นรมย์ของ “ สุขาวดี ” อันเป็นพุทธเกษตรของพระองค์ท่านผู้ที่ไปเกิดในที่นั้นจะมีแต่สุข ไม่มีทุกข์ไม่มีการเสื่อมถอยจากการปฏิบัติธรรมจะต้องบรรลุสำเร็จเป็นพุทธเจ้าในที่สุดการคิดจะไปเกิดที่สุขาวดีนั้นก็ไม่ยาก
เพียงแต่สวดพระนามของ พระองค์คือ สวดว่า “ นโม อมิตาภพุทธเจ้า” อย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงแก่กรรมพระองค์ท่านจะมารับไปเกิด ณ แดนสุขาวดีพุทธเกษตร  การปฏิบัติธรรมตามนัยแห่งพระสูตรนี้ได้เกิดในนิกายสุขาวดีขึ้น ในปี พ.ศ ๙๓๔ มีพระอาจารย์ ฮุ่ยเอี๊ยงเริ่มปฏิบัติก่อน ณ ภูเขาลู่ซาน แล้วก็แพร่หลายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว พระอาจารย์ทุกยุคส่วนมากก็สนับสนุนให้พุทธสาวกปฏิบัติตามนิกายนี้ เพราะถือว่าปฏิบัติกันได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าอาชีพใด จะมีความรู้แค่ไหน หรือไม่มีความรู้เลยก็ปฏิบัติได้กล่าวโดยทั่วไป พระพุทธศาสนาในประเทศจีน เกือบจะเป็นนิกายสุขาวดีทั้งหมด เพราะนอกจากนิกายธรรมลักษณ์และนิกายมนตรยานแล้วนอกนั้นส่วนมากมีการปฏิบัติตามนิกายสุขาวดีทั้งสิ้น การทำวัตรสวดมนต์เย็นก็ใช้แบบของสุขาวดี การบำเพ็ญกุศลในงานใด ๆ ส่วนมากก็เพื่อขอให้ได้ไปเกิดในแดนสุขาวดี ดินแดนสุขาวดีพุทธเกษตรนี้ อยู่ทางทิศตะวันตกของโลกเรา ฉะนั้นคำว่าตะวันตกในทางพุทธศาสนาของจีน จึงหมายถึงสุขาวดีนั่นเอง คำว่า “ อมิตาภพุทธเจ้า ” ใช้เป็นคำอุทานของชาวพุทธ รวมทั้งการปลงตกในกรณีเห็นผู้กระทำที่ไม่ ชอบธรรม บางครั้งก็ใช้เป็นคำอนุโมทนารูปปั้นของพระองค์ท่านส่วนมากจะทรงถือดอกบัว ซึ่งมีไว้สำหรับ
เป็นที่รองรับวิญญาณผู้ที่ไปเกิดในแดนสุขาวดี






พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาสพุทธเจ้า
南無消災延壽藥師佛

พระไภษัชยคุรุไวฑูรย์พุทธเจ้า ชาวจีนออกพระนามพระองค์ว่า “ เอียะซือฮุก ” แปลว่า พระพุทธเจ้าผู้เป็นครู
แห่งยารักษาโรค พระนามเต็มของพระองค์คือ พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาส ชาวจีนออกนามพระพุทธเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ บ้างทับศัพท์ บ้างแปลศัพท์ ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน แล้วแต่พระอาจารย์ที่แปลหรือที่บรรยายจะใช้อย่างไหนบางองค์ใช้ทับศัพท์และแปลศัพท์ พระองค์ท่านมีอะไรหลายอย่างที่คล้ายกับพระอมิตาภพุทธเจ้า เช่น มีพุทธเกษตรของพระองค์เช่นเดียวกับสุขาวดีของพระอมิตพุทธเจ้า ชื่อว่าศุทธิไวฑูรย์
เป็นที่ที่มีความสันติสุขน่ารื่นรมย์เช่นเดียวกันสุขาวดี การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน คือมีการสวดพระนามของพระองค์ท่านเสมอ ๆ เมื่อเวลาถึงแก่กรรม พระองค์ท่านจะมารับวิญญาณไปเกิด ณ ดินแดนพุทธเกษตร
แล้วจะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก ศุทธิไวฑูรย์เกษตรนี้ อยู่ทางทิศตะวันออกของโลกเรา คือตรงข้ามกับสุขาวดีของพระอมิตาภพุทธเจ้าเนื่องจากพระองค์ท่านมีปณิธานที่จะให้สัตว์โลกทุกรูปนามปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ฉะนั้น ถ้าผู้ใดบูชานมัสการท่านจะไม่มีโรคภัย ไข้เจ็บ ได้บูชาท่านแล้วก็หายเร็วขึ้นรูปปั้นของพระองค์ท่านถือยาอคทะ ซึ่งถือว่าเป็นยาที่รักษาโรคได้ทุกอย่างและมีความศักดิ์สิทธิ์มากเรามักจะเห็นรูปปั้นของพระองค์ท่านรวมอยู่กับพระอมิตาภพุทธเจ้าและพระศากยมุนีรวมเป็นสามพระองค์ในที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โอวาทธรรม... พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์(เย็นเชี้ยวมหาเถระ)

ประวัติวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ

เทศกาลทิ้งกระจาดมหาทาน (โผวโต่วหู่จิง)

สามเณรน้อยเล่งเน่ยยี่ .

"สิ่งแวดล้อมสร้างอัศวิน" ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว

ประวัติพระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์(เย็นเชี้ยวมหาเถระ)

ประวัติวัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ คณะสงฆ์จีนนิกายรังสรรค์

เสาทั้ง 4 ในอุโบสถ ณ วัดบรมราชาฯ (เล่งเน่ยยี่2)